เศรษฐา-ฮุน มาเน็ต ประกาศ “เปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์” ไทย-กัมพูชา

นายกรัฐมนตรีไทยและกัมพูชาเห็นพ้องกันว่า นี่เป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่จะ “เปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์” ของ 2 ประเทศ และจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์

วันนี้ 28 กันยายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เดินทางเยือนประเทศกัมพูชาอย่างเป็นทางการ เพื่อแนะนำตัวในโอกาสรับตำแหน่งใหม่ รวมถึงกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือด้านต่าง ๆ โดยถือเป็นชาติสมาชิกอาเซียนประเทศแรกที่นายกฯ คนที่ 30 ของไทยเลือกเดินทางไปเยือน ทั้งไทยและกัมพูชาเพิ่งมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ภายหลังการเลือกตั้งในเดือน พ.ค. และ ก.ค. ตามลำดับ

เส้นทางการเข้าสู่ทำเนียบรัฐบาลของนายเศรษฐาเกิดขึ้นภายหลังพรรคเพื่อไทย (พท.) พลิกรับบทแกนนำจัดตั้งรัฐบาลต่อจากพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ที่ชนะการเลือกตั้ง แต่ไม่สามารถหาเสียงสนับสนุนจาก สส. และ สว. ในการโหวตเลือกนายกฯ กลางรัฐสภาได้ ขณะที่สมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา สืบทอดตำแหน่งต่อจากบิดา สมเด็จอัครมหาเสนาบดี เดโช ฮุน เซน หรือ สมเด็จฮุน เซน อดีตนายกรัฐมนตรีที่ครองอำนาจยาวนานที่สุดของโลก โดยปกครองกัมพูชายาวนานถึง 38 ปี

ในช่วงการเปลี่ยนผ่านผู้นำของ 2 ประเทศ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 ของไทย ได้ปรากฏตัวร่วมงานฉลองวันคล้ายวันเกิดปีที่ 71 ของ ฮุน เซน ที่บ้านพักของผู้นำกัมพูชา เมื่อ 5 ส.ค. และพักค้างคืน 1 คืน ก่อนปรากฏภาพข่าวในสื่อท้องถิ่นของกัมพูชา ท่ามกลางการตั้งข้อสังเกตว่าเป็น “บทบาทใหม่” ของความสัมพันธ์ทางการเมืองของ 2 ประเทศหรือไม่

วันเดียวกัน (5 ส.ค.) นายทักษิณได้แจ้งผ่านบัญชีเอกซ์ (ทวิตเตอร์เติม) ของเขาว่า ขอเลื่อนวันเดินทางกลับไทยจากวันที่ 10 ส.ค. ไปอีกไม่เกิน 2 สัปดาห์ โดยให้เหตุผลว่า “หมอเรียกไปตรวจร่างกายก่อน”

ในวันใกล้เคียงกัน (7 ส.ค.) พระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี แห่งกัมพูชา ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ฮุน มาเนต เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของกัมพูชา

อดีตผู้นำ 2 ประเทศมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมายาวนาน ถึงขนาดที่ ฮุน เซน เคยแต่งตั้งนายทักษิณเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวและที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจรัฐบาลกัมพูชาในปี 2552

เวลา 11.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน ได้หารือทวิภาคีกับ ฮุน มาเนต โดยทั้ง 2 ประเทศประกาศยกระดับความสัมพันธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการหารือว่า นายกฯ ทั้ง ประเทศต่างแสดงความยินดีต่อกันในโอกาสเข้ารับตำแหน่งในช่วงเดียวกัน และมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศในทิศทางเดียวกัน โดยต่างฝ่ายต่างย้ำมิตรภาพอันใกล้ชิดระหว่างไทย-กัมพูชา และเป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่จะ“เปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์”

สำหรับประเด็นสำคัญที่ 2 ผู้นำหารือร่วมกัน สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

  • ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ: จะส่งเสริมความร่วมมือมากยิ่งขึ้นทั้งการค้า การท่องเที่ยว การลงทุน การพัฒนาพื้นที่ชายแดน และภาคเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะการร่วมกันอำนวยความสะดวกและเพิ่มปริมาณการค้าให้บรรลุเป้าหมาย 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2568 รวมถึงผลักดันการขนส่งข้ามแดนโดยเร่งรัดเปิดใช้สะพานมิตรภาพ บ้านหนองเอี่ยน-สตึงบท การสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ การยกระดับจุดผ่านแดน และร่วมกันในเศรษฐกิจดิจิทัลและสีเขียว
  • การท่องเที่ยว: นายกฯ เศรษฐาเสนอให้ไทยและกัมพูชาส่งเสริมการท่องเที่ยว และเพิ่มความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ พร้อมทั้งขอให้กัมพูชาอนุญาตใช้บัตรผ่านแดนชั่วคราวเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวตามแนวชายแดน
  • การลงทุน: จะสนับสนุนการลงทุนระหว่างกันให้มากขึ้น รวมถึงเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ส่งเสริมให้มีการจับคู่ธุรกิจมากขึ้น โดยเฉพาะเอสเอ็มอี และผู้ประกอบการรุ่นใหม่
  • ความมั่นคง: นายกฯ เศรษฐาเสนอให้กัมพูชาจัดการประชุมคณะกรรมการเขตแดนร่วม (Joint Boundary Committee: JBC) ครั้งต่อไป เพื่อเดินหน้ายกระดับจุดผ่านแดน เพิ่มปริมาณการค้าชายแดน และยังเสนอให้ทั้ง 2 ประเทศเร่งเก็บกู้ทุ่นระเบิดตามพื้นที่ชายแดนเพื่อความปลอดภัยของประชาชน และปูทางการพัฒนาเศรษฐกิจบริเวณชายแดน นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างหน่วยงานความมั่นคงในทุกระดับอย่างสม่ำเสมอ พร้อมย้ำถึงการทำงานและความร่วมมือที่ใกล้ชิดเพื่อร่วมกันปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์

จากนั้น นายกฯ ไทย-กัมพูชาร่วมทำพิธีส่งมอบเชิงสัญลักษณ์ศูนย์แรกรับเหยื่อการค้ามนุษย์และกลุ่มเสี่ยงในปอยเปต จังหวัดบันเตียเมียนเจย

BBC News Thai, สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

Back To Top